Regional News

อินโดฯ-มาเลย์ร่วมมือเผชิญความท้าทายระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม

ผลผลิตน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียและมาเลเซียคิดเป็นสัดส่วน 80% ของการผลิตน้ำมันปาล์มทั่วโลก ซึ่งทั้งสองประเทศได้ตกลงร่วมมือในอุตสาหกรรมนี้ โดยปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซียแถลงข่าวร่วมกับอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา

“เราได้ทำข้อตกลงในการร่วมมือกันทุกด้าน เนื่องจากเราเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก” นายปราโบโวกล่าวพร้อมเน้นย้ำความสำคัญของน้ำมันปาล์มในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความต้องการสูงในหลายประเทศ เช่น อียิปต์ อินเดีย และปากีสถาน

นายปราโบโวแสดงความขอบคุณประเทศมาเลเซียที่ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาระดับโลกที่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต้องเผชิญ โดยเฉพาะการรับมือกับการเลือกปฏิบัติต่อน้ำมันปาล์ม “ความร่วมมือนี้จะสร้างประโยชน์อย่างมาก ขอขอบคุณประเทศมาเลเซียที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด”

ร่วมมือแก้ไขปัญหาในการเลือกปฏิบัติ

เมื่อไม่นานมานี้ทั้งสองประเทศเป็นฝ่ายชนะในการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งองค์การการค้าโลกตัดสินว่ากฎระเบียบของสหภาพยุโรปเลือกปฏิบัติต่อไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียและขัดต่อระเบียบข้อบังคับของ WTO

ข้อพิพาทนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2562 เมื่ออินโดนีเซียยื่นเรื่องคัดค้านการตัดสินใจของสหภาพยุโรปเรื่องถอดเชื้อเพลิงไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มออก และมีแผนยุติการใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในภาคการขนส่งภายในปี 2573 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่ง WTO ได้ตัดสินแล้วว่ากฎระเบียบข้อบังคับนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ พร้อมระบุว่าเชื้อเพลิงไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกับเชื้อเพลิงไบโอดีเซลจากเรปซีดหรือถั่วเหลือง

“ต้องยอมรับว่าไบโอดีเซลไม่ได้มาจากเรปซีดหรือถั่วเหลืองเท่านั้น แต่ยังมีไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบด้วย” นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซียกล่าว

ผนึกกำลังท่ามกลางความท้าทายระดับโลก

ความร่วมมือที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจากความท้าทายและอุปสรรคด้านกฎระเบียบ โดยทั้งสองประเทศมองว่าน้ำมันปาล์มเป็นส่วนสำคัญและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค

การประชุมระหว่างประธานาธิบดีปราโบโวและนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ถือเป็นความพยายามครั้งใหม่ในการเสริมสร้างความร่วมมือและตอกย้ำบทบาทของทั้งสองประเทศในฐานะผู้นำการผลิตน้ำมันปาล์มของโลก โดยให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและการรับมือกับการตรวจสอบในระดับสากล