เทคโนโลยี DPMO รุ่นใหม่ เผยศักยภาพ สร้างกำไรเหนือกว่าน้ำมันปาล์มดิบ
เทคโนโลยีการกำจัดยางเหนียวจากน้ำมันจากเนื้อปาล์ม (DPMO) กำลังปฏิวัติวงการน้ำมันปาล์ม ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพสูง และสร้างผลกำไรได้มากกว่าการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) แบบเดิม
นายซาฮัต ซินากา ผู้อำนวยการสมาคมโรงกลั่นน้ำมันพืชอินโดนีเซีย (GIMNI) กล่าวว่า “เทคโนโลยีใหม่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม เดิมทีอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันใช้กระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบแบบการอบทะลายปาล์มด้วยไอน้ำที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง แต่ได้พัฒนากระบวนการผลิตแบบใหม่เป็นแบบแห้ง โดยใช้เทคนิคการพาสเจอร์ไรซ์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่า”

“จากข้อสังเกตนี้จึงเสนอให้ใช้วิธีการผลิตแบบแห้งในการแปรรูปทะลายปาล์มสด (FFB) ด้วยเทคโนโลยีการกำจัดยางเหนียวจากน้ำมันจากเนื้อปาล์มแทนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบแบบเดิม เทคโนโลยีการจำกัดยางเหนียวจากน้ำมันจากเนื้อปาล์มมีคุณภาพดีกว่าน้ำมันปาล์มดิบที่มีคุณภาพต่ำ อีกทั้งเทคโนโลยีไม่ได้มีการพัฒนามาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว” นายซาฮัตกล่าวในกรุงจาการ์ตา
เทคโนโลยีนี้นอกจากจะปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าแล้ว ราคาน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีการกำจัดยางเหนียวสูงกว่าน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทำให้ราคาทะลายปาล์มสดที่ซื้อจากเกษตรกรรายย่อยจะสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อยยังสามารถนำทะลายปาล์มสดของตนเองไปแปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มจากเนื้อปาล์มที่ผ่านการกำจัดยางเหนียวได้เอง เนื่องจากอัตรากำลังการผลิตของเทคโนโลยีนี้อยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับโรงงานขนาดใหญ่ที่มักจะมีอัตรากำลังการผลิตที่สูงกว่า
“เราพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาเองโดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เราต้องการเห็นเกษตรกรรายย่อยไม่ต้องพึ่งพาโรงงานน้ำมันปาล์มจากบริษัทใหญ่ที่มักจะมีอัตรากำลังการผลิตสูงถึง 30, 60, 90 ตัน/ชั่วโมง แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ อัตรากำลังการผลิตจะอยู่ที่เพียง 5, 10, 20 ตัน/ชั่วโมงเท่านั้น ทำไมถึงต้องใช้เทคโนโลยีที่มีอัตรากำลังการผลิตต่ำ เพราะต้องการให้เกษตรกรรายย่อยสามารถนำไปใช้ได้ง่าย ต้นทุนต่ำและไม่ต้องขนส่งผลผลิตไปไกล” นายซาฮัตกล่าว
เกษตรกรรายย่อยต้องเสียค่าขนส่งทะลายปาล์มสดไปยังโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น เนื่องจากระยะทางจากสวนปาล์มไปยังโรงงานค่อนข้างไกลหลายสิบกิโลเมตร
“ระยะทางในการขนส่งผลผลิตเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 60 กิโลเมตร ค่าขนส่งอยู่ที่ 8 รูปี/กิโลกรัม/กิโลเมตร ดังนั้นค่าขนส่งทั้งหมดเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 480 รูปี/กิโลกรัม แต่หากนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ค่าใช้จ่ายจะลดลงเหลือเพียง 120 รูปี/กิโลกรัม ซึ่งถูกกว่ามาก นี่คือเหตุผลที่เราเสนอแนวทางนี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน”
ปรากฏว่าเทคโนโลยี DPMO ได้รับความสนใจจาก เออร์จา เค็ตตูเนน-มาติไลเนน นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยตูร์กุ ประเทศฟินแลนด์ เขาจะทำการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการแปรรูปน้ำมันปาล์ม
เออร์จากล่าวเพิ่มเติม “เรามองว่านี่เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก โดยอาศัยความรู้เชิงลึกในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เทคโนโลยี เคมี และอื่น ๆ ของตนนำมาผสมผสานกัน และได้สร้างโมเดลธุรกิจที่ถูกออกแบบอย่างเป็นระบบโดยคำนึงว่าเหมาะกับใครบ้าง เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ทำให้ผมประทับใจ”